วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

จับ ตาเปลือกโลก...แผ่นดินทรุด! น้ำทะเลเพิ่มสูง...ไทยเสี่ยงท่วม!?


หลัง เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่สุมาตรา-อันดามันที่เกิดขึ้นใน เดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2547 ครั้งนั้นหลายพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันเผชิญกับคลื่นยักษ์สึนามิภัยทาง ธรรมชาติซึ่งไม่เพียงสร้างความสูญเสียในชีวิตทรัพย์สิน ทางด้านธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมต่างก็ได้รับผลกระทบมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน!!

ภาวะโลกร้อน สถานการณ์ที่กล่าวขานส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงแปรปรวนของฝนฟ้าอากาศ รวมถึงพิบัติภัยทางธรรมชาติที่ปรากฏให้สัมผัสใกล้ชิดขึ้น การศึกษาวิจัยเชิงลึกติดตามความเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงมีความหมายความจำเป็น

โครงการวิจัยร่วมไทย-ยุโรป GEO2TECDI ซึ่งเป็นโครงการวิจัยร่วมระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรปซึ่งคณะนักวิจัยจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมแผนที่ทหาร กรมอุทกศาสตร์ โรงเรียน นายเรือ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสาร สนเทศ ร่วมกับมหาวิทยาลัยในยุโรป ได้แก่ TUDelft, TUDarmstadt และ ENS ได้ใช้ข้อมูลจากดาวเทียม จีพีเอส ดาวเทียมวัดระดับน้ำทะเล และดาวเทียม SAR ซึ่งเป็นเทคโนโลยีอวกาศ Space-geodetic ตรวจวัดและติด ตามการเปลี่ยนแปลงของโลก เกี่ยวกับ การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกและการทรุดตัวของแผ่นดิน

งานวิจัยไม่เพียงพบการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยที่สูงกว่าค่า เฉลี่ยของโลกประมาณ 2 เท่า หากแต่พบการลดระดับของเปลือกโลกในบริเวณประเทศไทยที่น่าเป็นห่วง!!

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลเป็นตัวชี้วัดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศของโลกซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีการศึกษาเรื่องดังกล่าวแต่อาจมี ข้อมูลที่ต่างกันไป จากผลวิจัยของโครงการฯ ประมวลผลข้อมูลระดับน้ำทะเลเฉลี่ยรายปีจากสถานีวัดระดับน้ำของกรมอุทกศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2483 และจาก ข้อมูลกรมแผนที่ทหาร ซึ่งให้ข้อสรุปถึงระดับน้ำทะเลเฉลี่ยในอ่าวไทยกำลังเพิ่มระดับขึ้น โดยบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันตกระดับน้ำทะเลเฉลี่ยกำลังเพิ่มขึ้นด้วยอัตรา ประมาณ 3 มิลลิเมตรต่อปี


นอกจากนี้การวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียมวัดระดับน้ำทะเลในช่วงปี 2536-2551 บริเวณห่างจากชายฝั่งออกไปแสดงให้เห็นว่าระดับน้ำทั่ว อ่าวไทยกำลังเพิ่มขึ้นเช่นกัน อีกทั้งงานวิจัยได้ตรวจวัดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกซึ่งข้อมูลจากการวัด ด้วยสัญญาณดาวเทียมจีพีเอสในบริเวณเกาะภูเก็ต ชุมพร และชลบุรีตั้งแต่ปี 2537 แสดงให้เห็นว่า ก่อนเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่สุมาตรา-อันดามันในปี 2547 แผ่นเปลือกโลกยกตัวอย่างช้า ๆ 2-3 มิลลิ เมตรต่อปี แต่หลังแผ่นดินไหวมีทิศทางลดระดับลง อย่างรวดเร็วด้วยความเร็ว ที่ตรวจวัดได้ประมาณ 10 มิลลิเมตรต่อปี ขณะเดียวกันได้ตรวจวัดการทรุดตัวของ ชั้นดินชั้นทรายในบริเวณกรุงเทพมหานคร

ขณะที่การลดระดับของเปลือกโลกและการทรุดตัวของชั้นดินชั้นทรายทำให้การเพิ่ม ขึ้นของระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นต่อกรุงเทพฯ และจังหวัดชายฝั่งใกล้เคียงโดยมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการเกิดน้ำท่วม การกัดเซาะชายฝั่ง การรุก ของน้ำเค็มเข้าไปในแหล่งน้ำจืดตลอดจนการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมชายฝั่ง รศ.ดร.อิทธิ ตริสิริสัตยวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้ว่า โครงการนี้เราศึกษาทั้งสองส่วนทั้งเปลือกโลกที่เป็นชั้นหินซึ่งบนชั้นหินมี ชั้นตะกอนเป็นพวกดิน ทราย หิน ฯลฯ

การทรุดตัวคงต้องแยกว่าเป็นชั้นดินชั้นทรายหรือชั้นตะกอนที่อยู่ชั้นบนหรือ ชั้นหิน ส่วนที่เป็นประเด็นมีการพูดถึงเปลือกโลกทรุดตัวส่งผลต่อน้ำท่วมนั้น แผ่นเปลือกโลกโดยทั่วไปมองกันว่าค่อนข้างเสถียรแต่ในความเป็นจริงนั้นยังมี การเคลื่อนตัวอยู่ซึ่งการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกในประเทศไทยก็มีผู้ศึกษา ติดตามเรื่องแผ่นดินไหวอยู่โดยการศึกษาส่วนใหญ่จะเป็นการติดตามการเคลื่อน ตัวในทางราบ แต่โครงการฯ ศึกษาวิจัยในทางดิ่งร่วมด้วยและก็ทำให้พบว่า บริเวณประเทศไทยพบการลดระดับแผ่นเปลือกโลกกำลังเคลื่อนตัวลง

“ตัวเลขที่มีได้แก่ ที่ จ.ชุมพร ภูเก็ตและ อ.สัตหีบ หากพิจารณาจากอนุกรมเวลาของค่าพิกัดทางดิ่งที่แสดงในรูปกราฟจะเห็นว่าเส้น กราฟลดระดับลงซึ่งก็เป็นประเด็นที่คาดการณ์ว่ากรุงเทพฯ ก็น่าจะเคลื่อนตัวลง แต่ก็ยังไม่แจ้งชัดว่าลงไปที่อัตราเท่าไหร่เหตุผลก็คือกรุงเทพฯ มีลักษณะพิเศษด้วยที่ว่าชั้นดินตะกอนหนามากต้องเจาะลึกลงไปมากจึงจะเจอชั้น หิน

อีกทั้งจุดตรวจวัดทั้งหมดของกรุงเทพฯที่มีอยู่ก็จะอยู่ตามตึก ค่าการเคลื่อนตัวในทางดิ่งที่ได้จากจีพีเอสก็จะมีส่วนที่เป็นชั้นหินปนอยู่ กับส่วนที่เป็นชั้นดินชั้นตะกอนแยกได้ยากว่าเป็นอย่างไร แต่อย่างไรแล้วก็เชื่อว่ามีการลดระดับลงเพราะจากการศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียง อื่นที่ตั้งอยู่บนชั้นหินก็มีระดับลดลง”



ในกรุงเทพฯ ประเด็นใหญ่ที่เราห่วงกันก็คือ ในเรื่องของน้ำท่วม เรื่องของการกัดเซาะชายฝั่ง การรุกเข้ามาของน้ำเค็มซึ่งที่ผ่านมาก็เจอปัญหาเหล่านี้อยู่แล้วเพียงแต่ว่า ประเด็นนั้นเกิดจากอะไร ถ้ามองต่อไปในระยะยาวใน อนาคตจะมีผลอย่างไร หากไม่มีการแยกแยะอะไรให้ชัดเจนในแต่ละประเด็นก็ไม่สามารถตอบได้

จากการศึกษาวิจัยที่เสนอพบข้อมูลที่กล่าวมาทุกเรื่องมีความน่าเป็นห่วง อย่างเรื่องของเปลือกโลกที่เป็นชั้นหินทรุดตัวลง การที่เปลือกโลกที่เป็นชั้นหินลดระดับลงก็จะส่งผลต่อทุกสิ่งบนผิวโลก ด้วยเพราะเราอยู่บนชั้นดินเมื่อชั้นหินลดระดับลง ชั้นตะกอนก็จะลดลงตาม

“การสำรวจครั้งนี้จึงเป็นการศึกษาที่ลึกลงไปถึงชั้นเปลือกโลกและเมื่อชั้น หินเปลือกโลกทรุดตัวก็จะส่งผลต่อสิ่งต่าง ๆ การลดระดับลง ทีละน้อยเหล่านี้อาจเป็นการลดระดับโดยที่ไม่รู้ตัวแต่จากการศึกษาก็ทำให้ เตรียมความพร้อมล่วงหน้าได้อย่างทันท่วงที”

การที่เปลือกโลกลดระดับลงก็มีผลมาจากแผ่นดินไหวเมื่อปีค.ศ. 2004 ที่เกิดสึนามิซึ่งก็มักจะพูดกันถึงเรื่องพิบัติภัยสึนามิกัน แต่อาจลืมนึกถึงผลกระทบในสิ่งเหล่านี้ซึ่งถือเป็นภัยเงียบที่ ส่งผลกระทบต่อเนื่องมา ในการศึกษาครั้งนี้จึงถือว่าเป็นความรู้ที่น่าสนใจ

ส่วนการศึกษาจากจีพีเอสเป็นการวัดระยะทางจากดาวเทียมที่อยู่ในอวกาศ หากพูดในหลักการที่เข้าใจได้ง่ายคือ ค่าความสูงของตำแหน่งเดิมเมื่อเวลาผ่านไปมีความคงที่หรือไม่ ถ้ามีความคงที่ก็ไม่มีการทรุดตัวซึ่งในระดับชั้นหินส่วนที่เป็นเปลือกโลกคง ไม่สามารถทำอะไรได้ในการที่ จะหยุดยั้ง



แต่สิ่งที่เราต้องทำคือ เมื่อทราบผลจากการศึกษา มีข้อมูลเหล่านี้คงต้องเร่งตระหนักซึ่งในความรุนแรงของน้ำทะเลกัดเซาะชาย ฝั่งจะมากกว่าที่เราคิดและอาจจะแตกต่างจากเดิมที่ได้มีการศึกษา ดังนั้นต่อไปในอนาคต ในการวางแผนแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดจะเป็น น้ำท่วม การกัดเซาะชายฝั่งหรือน้ำเค็ม ฯลฯ คงต้องนำข้อเท็จจริงร่วมวางแผน โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งที่ผ่านมาก็เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมสิ่งที่มีความห่วงใยกันคือ ปัจจุบันพื้นที่กรุงเทพฯ ผิวดินอยู่ในระดับต่ำอยู่ใกล้กับระดับน้ำทะเลมาก

อีกทั้งในระหว่างทางสิ่งที่กำลังลดระดับลงแน่นอนว่าการกัดเซาะชายฝั่งเกิด ขึ้น น้ำเค็มทะลักเข้าไปก็ง่ายขึ้น อีกทั้งยังอาจพบเจอปัญหาในช่วงที่น้ำทะเลหนุนมากในช่วงปลายปี น้ำทะเลก็จะทะลักเข้าไปลึกขึ้นก็แน่นอนว่าย่อมสร้างความเสียหาย

ส่วนในเรื่องของน้ำท่วมก็อาจพบได้บ่อยขึ้น นานขึ้นเนื่องจากแผ่นดินทรุดลงการระบายน้ำก็จะยากขึ้น แต่อย่างไรแล้วในแง่ของ ปัญหาที่เกิดนั้นคงไม่เกิดฉับพลัน แต่จะค่อยเป็นค่อยไปและจะทวีความรุนแรงขึ้น การวางแผนเพื่อแก้ไขหรือป้องกันปัญหาเหล่านี้ในอนาคตต้องเผื่อตัวเลขเหล่า นี้ไว้ด้วยและต้องมีการศึกษาติดตามต่อไปเนื่องจากการเคลื่อนตัวเหล่านี้มี ค่าไม่คงที่

จากผลวิจัยที่มีความหมาย การตระหนักโดยไม่ตื่นตระหนกร่วมรักษาความสมบูรณ์ของธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้ คงความสมบูรณ์อย่างจริงจังและยั่งยืนก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ละเลยมอง ข้ามเช่นกัน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น