วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553

...(งาน) สำเร็จ เมื่อ (คน) สำราญ...


การที่จะเริ่มต้นทำงานชิ้นใดๆ นั้น จำเป็นที่จะต้องมีสติ เพราะสติทำให้เราตระหนักและรับรู้ตนเองอยู่ตลอดเวลา ณ ปัจจุบัน ขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ และสติก่อให้เกิดสมาธิ และสมาธิก็ก่อให้เกิดปัญญา และเมื่อเรามีปัญญา เราก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ๆ ได้อย่างดีมีคุณภาพและมีจรรยาบรรณ โดยท่านได้ยกตัวอย่างเป็นข้อๆ เพื่อให้เห็นภาพชัดๆ ไว้ดังนี้ 1. ผู้บริหารต้องแบ่งงานและใช้ลูกน้องเป็น ในมุมมองของท่าน ว.วชิรเมธี นั้น ผู้บริหารที่ดีต้องมีวิธีการบริหารที่จะทำให้ชนะใจลูกน้อง เพราะผู้บริหารเปรียบเหมือนนิ้วโป้ง มีหน้าที่หนักแน่น มั่นคง ก็คือ ต้องมีความหนักแน่นมั่นคงเป็นหลักเป็นชัยให้ลูกน้องเชื่อถือได้ ถ้าผู้บริหารโลเล ไม่แน่นอน ลูกน้องก็จะทำงานได้โลเลตาม นอกจากจะมั่นคงแล้ว สิ่งหนึ่งที่จำเป็นมาก สำหรับคนที่เป็นผู้บริหารก็คือ ต้องแบ่งงานกันทำ ช่วยบริหารช่วยจัดการไม่แบกทุกอย่างไว้คนเดียว ไม่อย่างนั้นจะหนักทั้งกายและหนักทั้งใจ เพราะต้องแบกภาระมากกว่าคนอื่น เพราะมนุษย์ไม่ได้เก่งทุกเรื่อง คนที่ทำตัวเก่งทุกเรื่อง มักจะเป็นทุกข์ง่าย การรู้จักแบ่งงานและเลือกใช้คน จึงเป็นหลักการของผู้บริหารที่ต้องทำให้ได้ เพราะไม่ว่าจะงานหนักอย่างไร ก็ต้องมีเวลาให้กับตัวเอง ในเมื่อได้แบ่งงานไว้แล้ว คนทุกคนควรจะมีโมงยามแห่งความสุข ที่มีเวลาแบ่งสันปันส่วนให้กับตัวเอง ไม่เช่นนั้นจะหลงแบกไปทุกเรื่อง 2. ผู้นำที่ดีต้องกล้าคิด กล้าทำ กล้าเปลี่ยนแปลง ผู้นำที่ก้าวเข้ามารับตำแหน่ง ต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กร ให้ก้าวไปข้างหน้า และควรทำงานได้อย่างสร้างสรรค์ หมายถึง กล้านำกล้าเปลี่ยนไปในทางที่ดี มีหลักการและเหตุผลที่ดีรองรับ ไม่ใช่นึกจะเปลี่ยนตามใจชอบ แต่ต้องดูสภาพแวดล้อมขององค์กรนั้นประกอบด้วย เพราะทุกองค์กรต้องมีวัฒนธรรมองค์กรของตัวเอง ต้องให้เวลาในการปรับตัวกันบ้าง ถึงจะดูดีไม่เป็นการหักหาญน้ำใจกันเกินไป ผู้นำที่ดีจะเปลี่ยนแปลงอะไร ก็ต้องดูทิศทางลมให้รอบคอบว่า องค์กรที่เรากำลังจะเปลี่ยนแปลงนั้น มีลักษณะการทำงานกันมาอย่างไร ถ้ารีบเปลี่ยนแปลงโดยขาดความรอบคอบเหมาะสม จะยิ่งพบกับความยุ่งยาก แทนที่จะก้าวไปข้างหน้า กลายเป็นว่ากลับมาสะดุดขาตัวเอง 3. ผู้นำต้องมีความเข้าใจ หลักประการต่อมาในการเป็นผู้นำก็คือ ต้องมีความเข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ จึงจะได้นั่งอยู่ในใจลูกน้อง แต่ถ้าทำตัวนั่งอยู่บนหัวลูกน้อง คุณก็จะไม่ได้ใจลูกน้องเลย อาจจะได้แต่ความรู้สึกเบื่อหน่ายเกลียดชัง เพราะชินแต่การใช้อำนาจบาตรใหญ่ จะมีความต้องการอะไร ก็สั่งเอาแต่อารมณ์ตามใจตัว ข่มขู่ลูกน้องด้วยอำนาจ หากเอาแต่ใจตัวเองเป็นใหญ่ ลูกน้องทำงานไม่ทันใจก็อารมณ์เสีย สุดท้ายอาจจะมีสิทธิ์หัวใจวายกันทั้งเจ้านายและลูกน้อง นายก็เครียด เพราะไม่ได้ดั่งใจ ลูกน้องก็เครียด เพราะกลัวจะทำไม่ถูกใจนาย ดังนั้นเป็นนายก็ต้องได้ใจลูกน้อง ไม่อย่างนั้นก็ประสาทเสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย เมื่อทำงานอย่างไม่มีความสุข ก็ยากที่ผลงานจะออกมาดี ถ้าเป็นผู้นำแล้วแต่ไม่ได้ใจคน วันที่เราหมดอำนาจไปแล้วเดินออกจากสำนักงานไป อาจจะมีเสียงไล่ส่ง แต่ถ้าเราลาออกหรือเกษียณไปแล้ว แต่มีลูกน้องมอบดอกไม้และการ์ดให้ นั่นแสดงว่าเราชนะใจลูกน้องได้เป็นอย่างดี คุณล่ะอยากได้อะไรระหว่างเสียงไล่หรือดอกไม้ 4. ต้องรู้จริงแบบผู้เชี่ยวชาญ ในชีวิตการทำงานของเราจะต้องมีความเป็นมืออาชีพ ทั้งลูกน้องและหัวหน้างาน ยิ่งเป็นหัวหน้ายิ่งต้องมีความเป็นมืออาชีพ สูงกว่าคนอื่นในองค์กรจะได้นำเขาได้ และผู้นำที่ดีต้องมีความรู้ มีความสามารถอย่างแท้จริง จะต้องไม่ทำงานโดยใช้ความรู้ความสามารถแบบหลอกลวง คือไม่รู้จริงหรือทำตัวเป็น “นักวิชาเกิน” ที่ไม่รู้จริงสักเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องงานของตัวเอง ถ้ามีสิ่งใดที่ไม่รู้จริง ก็ต้องกล้าที่จะเรียนรู้เพิ่ม เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ ไม่รู้ก็ต้องกล้าบอกว่า ไม่รู้ ไม่เห็นเป็นไร ไม่มีใครรู้ทุกเรื่องในโลกนี้อยู่แล้ว ยอมรับว่าไม่รู้ดีกว่ามีคนจับได้ว่า ไม่รู้หรือรู้ไม่จริง และต้องใช้ความรู้คู่จรรยาบรรณ 5. กายอยู่กับกิจ จิตอยู่กับงาน การจะทำงานให้ได้ผลสูงสุด ต้องมีความตั้งมั่น ตั้งใจแน่วแน่ การทำงานที่ดีก็คือ การปฏิบัติธรรม หากงานดี ก็จะเป็นอนุสาวรีย์ของชีวิต หากงานไม่ดี ก็จะเป็นเครื่องประจานตัวเราตลอดไป โดยอาศัยหลักธรรมะเข้ามาช่วยเสริม มีทั้งหมด 4 ข้อก็คือ มีใจรัก พากเพียรทำ จดจำจ่อจิต และวินิจฉัย หากทำงานใดแล้วมีคุณธรรมทั้ง 4 ข้อนี้แล้ว งานนั้นสำเร็จแน่นอน 6. รักในสิ่งที่ทำ เราจำเป็นที่จะต้องรู้ตัวตน ต้องรู้ว่าสิ่งที่ตัวเรากำลังทำอยู่นั้น ใช่ตัวตนจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าเรากำลังแสดงบทบาทสิ่งที่ผู้อื่นมอบให้อยู่ เพราะว่าหากเราทำสิ่งที่บังคับฝืนใจทำ ผลงานที่ออกมาก็จะเป็นไปในรูปแบบสักแต่ทำ หรือทำให้หมดไปวันๆ ยิ่งไปกว่านั้น ความรู้สึกเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้น ทำให้เรารู้สึกขาดความเคารพนับถือในตัวเอง และกลายเป็นคนที่ทำอะไรก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากจิตใจไม่ยอมรับ หรือไม่มีความรู้สึกที่อยากจะทำงานออกมานั่นเอง นอกจากนี้ในการทำงานนั้น ผู้บริหารที่ดีหรือแม้กระทั่งพนักงานทั่วไป ตามแนวทางของท่าน ว.วชิรเมธี ควรจะต้องมีองค์ประกอบ คือ การทำงานต้องอารมณ์ดี ก็จะมีความสุข ที่จริงไม่เฉพาะทำงานเท่านั้น แต่ควรจะมีอารมณ์ดีตลอดเวลา เพราะนอกจากจะทำให้สุขภาพจิตดีแล้ว ยังทำให้อายุยืนด้วย ธรรมะที่จะทำให้อารมณ์ดี ก็คือ มีสัมมาทิฏฐิ ดำริถูกทาง วางตนให้เหมาะสม ชื่นชมคนอื่น ไม่ฝืนสังขาร ทำงานสุจริต ฝึกจิตให้สูง ไม่ปรุงความคิด ไม่ยึดติดโลกธรรม เพียงแค่นี้อารมณ์ดีมีอายุยืนยาวแน่นอน การทำงานไม่ใช่เพียงทำงานให้เสร็จเท่านั้น แต่ต้องทำให้สำเร็จด้วย นั่นก็คือ ต้องทุ่มเทรับผิดชอบทำงานของตนเองอย่างเต็มที่ คนสำราญ งานสำเร็จ หากเรามีสุขภาพใจที่ดี ที่เข้มแข็งแล้วไซร้ การจะทำกิจใดๆ ก็ไม่ยากเกินความสามารถเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น