วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2553

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก...คุณก็เสี่ยงเหมือนกันนะ!



โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก...คุณก็เสี่ยงเหมือนกันนะ! (Lisa)
ใบหน้าบิดเบี้ยว...ไม่ได้เกิดขึ้นยากอย่างที่คิด ไม่ได้รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต และหากรักษาอย่างรวดเร็วก็จะหายได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ถ้าเห็นแค่อาการโดยไม่เข้าใจเลยก็อาจกลัวโรคนี้มาก ๆ หรืออาจไม่รู้ว่าที่เป็นอยู่น่ะคือ โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หรือ Bell’s Palsy วันนี้ก็เลยต้องมาคุยกันหน่อยจะได้ไม่วิตกยังไงล่ะคะ
ใครที่ติดตามข่าวบันเทิงบ้านเราคงจะได้ยินข่าวดาราหนุ่ม โอ-อนุชิต ที่ป่วยเป็นโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกหรือ "ปลายประสาทคู่ที่ 7 อักเสบ" ซึ่งตอนแรกนั้นก็แค่รู้สึกเหมือนนอนตกหมอน หลังจากนั้นก็เริ่มควบคุมใบหน้าซีกซ้ายไม่ได้ อาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลา 24 ชั่วโมงเท่านั้น แต่หลังจากนั้นหนุ่มโอก็เข้ารับการรักษาและมีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ แต่คุณผู้อ่านบางคนอาจจะยังมีข้อสงสัยกันบ้าง เราจึงขอมาเคลียร์กันให้เข้าใจในวันนี้
ทำไมหน้าถึงเบี้ยว
ก่อนจะเข้าใจว่า "โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก" หรือ Bell’s Palsy เกิดจากอะไร เรามาดูเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกันก่อน ซึ่งก็คือ CN-VII หรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ที่เริ่มต้นจากก้านสมองในส่วนที่เรียกว่า Pons ก่อนจะแตกสาขาครั้งแรกในต่อมน้ำลานใต้หู แล้วแตกเป็นใยประสาทมากกว่า 7,000 สาขาซึ่งแยกไปตามใบหน้าลำคอ ต่อมน้ำลาย และหูส่วนนอก เส้นประสาท เหล่านี้จะควบคุมกล้ามเนื้อลำคอ หน้าผาก และควบคุมการแสดงสีหน้า
โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกเกิดขึ้นเนื่องจากอาการอักเสบของเส้นประสาทดังกล่าวภายใน Fallopian Canal ซึ่งแคบมากๆ การอักเสบนั้นจึงส่งแรงกดไปที่เส้นประสาท หรือถ้าตัวเส้นประสาทเกิดการอักเสบภายในท่อดังกล่าวเสียเองก็จะทำให้เกิดผลอย่างเดียวกัน จนในที่สุดหน้าที่ทั้งหมด ซึ่งเส้นประสาทคู่ที่ 7 รับผิดชอบนั้นจะซะงัก นั่นหมายความว่าถ้าเกิดอัมพฤกษ์ลามไป บริเวณที่ไม่ใช่ใบหน้า หรือใบหน้าขยับได้บางส่วน นั่นก็ไม่ใช่โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกแล้วค่ะ
คุณเองก็เสี่ยงกับโรคนี้เหมือนกัน
ใครๆ ก็อาจเป็นโรคนี้ได้ แม้ว่ามักจะเกิดในคนที่มีอายุ 15-60 ปี แต่เด็กๆ หรือคนชราก็ไม่ใช่ ข้อยกเว้นสำหรับโรคนี้ ส่วนที่พบได้มากก็คือหญิงมีครรภ์ในช่วงใกล้คลอดหรือคนที่เพิ่งคลอดบุตร ส่วนผู้ป่วยเบาหวานก็จะมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ มากกว่าคนทั่วไปประมาณ 4 เท่า นอกจากนี้ โรคต่างๆ ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอก็จะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงกับโรคใบหน้าเบี้ยวได้เช่นกัน สำหรับอุบัติการณ์ของโรคพบที่ 20 คนต่อประชากร 100,000 คน โดยในสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยปีละประมาณ 40,000 คน
เมื่อเป็นแล้วจะ...
หลายคนที่มีอาการเป็นครั้งแรกจะไม่รู้ว่านี่คือโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ทีแรกอาจรู้สึกแค่ปวดหลังหู (ซึ่งเป็นอาการที่สำคัญของโรค) หรืออาจรู้สึกว่าหน้าตึงๆ ไม่สามารถหลับตาหรือขยับได้ดังใจ โดยมีลักษณะอาการที่สังเกตได้ดังนี้
•ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าได้ (รวมถึงหน้าผาก) •มักจะรู้สึกปวดหรือชาในหู ใบหน้า คอ หรือกรามข้างที่มีอาการ •ปวดศีรษะ •ไม่รู้รสชาติอาหาร •ผู้ป่วย 60% จะมีการติดเชื้อจากไวรัสก่อนแสดงอาการ •ประสาทการได้ยินอาจเปลี่ยนไป (บ่อยครั้งที่พบว่าการได้ยินจะไวมากขึ้น) •บางกรณีที่หายยากจริงๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการทั้งสองซีกของใบหน้า
อย่างไรก็ดี อาการของโรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกอาจจะรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในกรณีแรกผู้ป่วยอาจพบว่าตื่นมาวันหนึ่งแล้วประสบกับอาการใบหน้าบิดเบี้ยวเลย หรือในกรณีที่สองก็จะมีอาการนำมาก่อน อย่างเช่น ตาแห้ง คันบริเวณริมฝีปาก ปวดด้านในหู แต่อาจต้องใช้เวลาหลายวันกว่าที่อาการจะปรากฏแน่ชัดว่าเป็น Bell’s Palsy จริงๆ หลังจากนั้นสามสี่วันอาการจะรุนแรงที่สุด แต่จะรุนแรงไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ ข่าวดีก็คือโรคนี้จะไม่ทำให้ส่วนอื่นของร่างกายชาด้านหรือเป็นอัมพฤกษ์ ดังนั้น ถ้าอาการลามไปถึงส่วนอื่นๆ ด้วย คุณอาจจะต้องให้คุณหมอตรวจสอบเพิ่มเติมดีกว่า
หายได้...ด้วย "เวลา"
ผู้ป่วยโรคใบหน้าเบี้ยวประมาณ 50% จะหายจากโรคโดยเด็ดขาดภายในระยะเวลาอันสั้น และอีก 35% อาจต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งปี เพื่อจะได้หายขาดจากโรค
ข่าวดีก็คือ Bell’s Palsy มักถูกมองว่าเป็นอาการบาดเจ็บของประสาท ซึ่งมีการรักษาตัวเองได้เพียงแต่ระยะเวลาและการฟื้นฟูก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าบาดเจ็บมากน้อยเพียงไร หากเส้นประสาทบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย การฟื้นฟูนั้นก็รวดเร็วและอาจใช้เวลาแค่ไม่กี่วันจนถึงไม่กี่สัปดาห์ แต่โดยเฉลี่ยแล้วเส้นประสาทอาจสร้างตัวเองใหม่ได้ที่ความเร็ว 1-2 มิลลิเมตรต่อวัน และอาจสร้างติดต่อกันได้ 18 เดือน หรือนานกว่านั้น อาการของโรคจึงค่อยๆ ทุเลาลงเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป
ข่าวร้ายก็คือเมื่อเป็นแล้วอาจเป็นอีกได้ แม้จะมีโอกาสน้อยก็ตาม สำหรับคนที่เคยป็นแล้ว โอกาสที่จะเป็นอีกครั้งอยู่ที่ 5-9% ในช่วง 10 ปี
Thailand’s Cure Bell’s Palsy รักษาอย่างไร?
สำหรับวิธีการรักษานั้น Lisa ได้มาสอบถามอายุรแพทย์ระบบประสาท ประจำศูนย์สมองและระบบประสาท ร.พ.พญาไท 3 ซึ่งอธิบายว่า กรรักษาอาจมีตั้งแต่การรักษาด้วยยาลดอาการบวม ลดการอักเสบ ยาบำรุงปลายประสาท ตลอดจนการกระตุ้นไฟฟ้ากล้ามเนื้อใบหน้าในบางรายอาจมีข้อบ่งชี้เรื่องการให้ยาด้านไวรัสร่วมด้วย สำหรับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดนั้น มักจะเป็นกรณีที่พบน้อยและตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่าเกิดจากสาเหตุเนื้องอกในสมอง เป็นต้น โดยมักจะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อาเจียน แขนขาอ่อนแรง ชา หรือลิ้นแข็ง ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับการประเมิน ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาได้ แต่ในบางรายอาจพบร่องรอยของกล้ามเนื้อใบหน้าที่ยังขยับได้ไม่เท่ากันอยู่บ้าง
Did You Know?
โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีกนั้น ถูกเรียกว่า "Bell’s Palsy" ตามชื่อ เซอร์ชาร์ลส์ เบลล์ศัลยแพทย์ชาวสกอตผู้ศึกษา เส้นประสาทคู่ที่ 7 และบทบาทของมันต่อกล้ามเนื้อใบหน้า เมื่อ 200 ปีที่แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น