วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

ไมโครเวฟ กับ อาหารแช่แข็ง


ช่วงฝนตกแบบนี้ หนุ่มสาววัยทำงานตลอดจนนักเรียนนักศึกษา คงจะเคยฝากท้องไว้กับร้านอาหารสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง ที่มีอยู่แทบทุกหัวระแหง และมีบริการขนม ของว่าง หรือกระทั่งอาหารกล่องแช่แข็งให้เลือกกันหลายเมนู เพียงจ่ายเงินแล้วให้พนักงานยัดอาหารกล่องแช่แข็งเมนูโปรดเข้าไปในเตาอบ ไมโครเวฟ ไม่กี่นาที อาหารแช่แข็งเหล่านั้นก็จะกลายเป็นเมนูจานร้อนหอมฉุยพร้อมเสิร์ฟ...สุดสะดวก แบบนี้ มั่นใจว่าต้องมีคนใช้บริการไม่น้อยแน่ๆแต่เท่าที่สังเกตพฤติกรรมการนำอาหารแช่แข็งเหล่านั้นเข้าเตาอบไมโครเวฟ ส่วนใหญ่มักจะคล้ายๆ กัน คือ หากเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ก็มักจะฉีกซองออกเล็กน้อย หรือเจาะให้ทะลุเป็นรูๆ แล้วเอาเข้าอบทั้งหีบห่อพลาสติก แต่ถ้าหากเป็นอาหารชนิดของว่างประเภทซาลาเปา จะเอาออกจากห่อใหญ่ที่แช่แข็งไว้ แล้วนำมาใส่ในถุงพลาสติกใสอย่างหนา แล้วจึงนำเข้าอบทั้งพลาสติกดังกล่าว...บางคนกินบ่อยจนรู้สึกชินตากับพฤติกรรมและรูปแบบของการอบอุ่นอาหารแช่แข็งเช่นนี้ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัย ของการอบอาหารทั้งบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ห่อหุ้มอยู่ ว่าความปลอดภัยจากการปนเปื้อนนั้นมีมากน้อยแค่ไหน"ขึ้นอยู่กับพลาสติก ว่ามันเป็นพลาสติกชนิดไหน ถ้าเป็นพลาสติกที่ได้มาตรฐาน และระบุชัดเจนว่า สามารถใช้อบในไมโครเวฟได้ อันนี้ก็ไม่มีปัญหา แต่ปัญหามันจะมาอยู่ที่พลาสติกที่ห่ออาหารนั้นๆ มันเป็นพลาสติกทนความร้อนที่สามารถใช้อบในไมโครเวฟได้ทุกชนิด ทุกยี่ห้อ ทุกผลิตภัณฑ์หรือเปล่า อันนี้เป็นประเด็นของร้านที่ต้องรับผิดชอบเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค"รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการอธิบาย ก่อนจะขยายวงออกไปถึงเรื่องของการอุ่นอาหารด้วยไมโครเวฟในครัวเรือนด้วย"และนอกจากที่เราอาจจะต้องเจออาหารแช่แข็งอุ่นทั้งพลาสติกตามร้านสะดวกซื้อแล้ว โอกาสที่เราจะซื้อมาแช่ไว้ในตู้เย็นแล้วบริโภคกันในบ้านก็เป็นสิ่งที่หลายครอบครัวทำกัน เนื่องจากสะดวกรวดเร็ว"รศ.ดร.วินัย กล่าวต่ออีกว่า บางบ้านอาจจะเลือกความสะดวกโดยการอุ่นทั้งบรรจุภัณฑ์อย่างที่เห็นพนักงานใน ร้านทำ แต่บางบ้านอาจจะใช้วิธีแกะออกจากพลาสติกใส่จาน จากนั้นจึงทำไปเข้าไมโครเวฟเพราะคิดว่าปลอดภัยกว่า"จริงๆ แล้วการเลือกภาชนะใส่อาหารเพื่อนำเข้าเตาอบไมโครเวฟก็ต้องเลือกดีๆ และยังมีคนอีกจำนวนมากที่เข้าใจผิดอยู่ ภาชนะที่ดีที่สุดในการใส่อาหารเข้าอบในไมโครเวฟ คือ ภาชนะถูกทำขึ้นเพื่อใช้ในการอบในเตาไมโครเวฟโดยเฉพาะ แต่หากไม่มีก็สามารถใช้จานกระเบื้องเนื้อหนาแทนก็ได้ ที่เห็นบ่อยๆ ก็คือคนมักจะใช้จานหรือชามกระเบื้อง แต่ไม่ได้คำนึงว่าเป็นจานชามเนื้อเกลี้ยงๆ หรือมีการวาดลายลงสี อันนี้อันตรายมาก เพราะจานชามกระเบื้องเนื้อหนาทนความร้อน และสามารถเอาเข้าไมโครเวฟได้จริง แต่พวกลายสี หรือขอบเงินขอบทองที่ถูกเขียนไว้ อันนี้ไม่ทนความร้อนครับ ละลายได้และจะปนเปื้อนในอาหาร เมื่อกินอาหารเข้าไป สิ่งเหล่านี้ก็จะไปสะสมเป็นพิษอยู่ในร่างกาย"ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ผู้บริโภคควรทำ นอกจากจะดูแลเรื่องการเลือกภาชนะมาอุ่นอาหารในไมโครเวฟที่บ้านแล้ว สำหรับมิติของร้านสะดวกซื้อ ผู้บริโภคควรดูที่บรรจุภัณฑ์ หากเป็นพลาสติกที่สามารถอบในไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย จะมีคำบ่งชี้ เช่น Microwave Save ระบุไว้ที่บรรจุภัณฑ์"แต่ถ้าอาหารชนิดไหนถูกนำเข้าอบโดยบรรจุภัณฑ์ไม่มีแจ้งว่าเป็นพลาสติกทนความร้อน ก็ควรจะถามพนักงานในร้าน หรือเรียกร้องไปยังเจ้าของเฟรนไชส์ร้าน ให้ชี้แจงว่าบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ดังกล่าวปลอดภัยหรือไม่ เพราะมันเป็นเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัยของเรา ปัญหาของผู้บริโภคบ้านเราคือ เราไม่ควรเรียกร้องสิทธิให้ตัวเองทั้งที่ทำได้ต้องช่วยกันครับ เพื่อสุขภาพของเราเอง" รศ.ดร.วินัย ทิ้งท้ายในขณะที่ผศ.ดร.วรรณวิมล อารยะปราณี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมีและวัสดุ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความกระจ่างเพิ่มเติมว่า ตามปกติพลาสติกเมื่อถูกความร้อนจะสลายตัว แต่พลาสติกที่สามารถใช้อบไมโครเวฟได้นั้น จะต้องเป็นพลาสติกที่ทนความร้อน"เมลามีน ก็ไม่ใช่พลาสติกทนความร้อน มีคนเข้าใจผิดมากเกี่ยวกับเมลามีนและใช้เป็นภาชนะเพื่ออบไมโครเวฟกันเป็น จำนวนมาก อาจจะมีการโฆษณาจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ ประกอบกับบางครั้งที่เราเอาเมลามีนเข้าไมโครเวฟเพียง 1-2 นาที หรือ 5 นาที ความร้อนมันจะยังไม่ทำให้ละลายออกมาจนเห็นชัด แต่เมลามีนไม่ใช่พลาสติกทนความร้อนได้ถึงในระดับไมโครเวฟ และแม้จะอบและไม่ถึงขั้นละลายออกมาให้เห็นก็มีโอกาสปนเปื้อนได้"ผศ.ดร.วรรณวิมล ให้ความรู้ต่อไปอีกว่า ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งที่คนไทยมักเข้าใจผิด คือ การใช้ฟิล์มพลาสติกถนอมอาหาร หรือทึ่คุ้นปากกันในชื่อ "แร็ป" ในการห่อ อาหารหรือหุ้มภาชนะ ก่อนจะเอาเข้าไมโครเวฟนั้นเป็นเรื่องที่ปลอดภัย เพราะในความเป็นจริงแล้วความเข้าใจดังกล่าวไม่ถูกต้องเสียทีเดียว"การแร็ป อาหารอย่างถูกต้องและปลอดภัยนั้น ต้องให้พลาสติกแร็ปอยู่สูงเหนืออาหารอย่างน้อย 1 นิ้ว หากต่ำกว่านั้นพลาสติกแร็ปมีโอกาสจะละลายลงไปในอาหารได้" นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ทิ้งท้ายขอบคุณข้อมูลจาก สสส.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น