วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วังเชอนงโซ


วังเชอนงโซ (ฝรั่งเศส: Château de Chenonceau) ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเชอนงโซซ์ (Chenonceaux) ในแคว้นซองตร์ ในบริเวณแองดร์-เอต์-ลัวร์ ในประเทศฝรั่งเศส วังเดิมสร้างบนโรงป่นแป้งเก่าบนฝั่งแม่น้ำแชร์และสร้างมา ก่อนหน้าที่จะมีหลักฐานทางเอกสารเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 11 วังปัจจุบันออกแบบโดยฟิลแบรต์ เดอลอร์ม (Philibert De l'Orme)สถาปนิกเรอเนซองส์

ประวัติ

ปราสาทเดิมถูกวางเพลิงเมื่อปีค.ศ. 1411 เพื่อเป็นการแก้แค้นที่ฌอง มาร์คส์ (Jean Marques) ผู้เป็นเจ้าของใช้อำนาจในทางที่ผิด หลังจากนั้นเมื่อราวปีค.ศ. 1430 ฌอง มาร์คส์ก็สร้างปราสาทใหม่โดยมีการสร้างเสริมอย่างแข็งแรง ปีแอร์ มาร์ค (Pierre Marques) ผู้เป็นเจ้าของต่อมาไปทำหนึ้เป็นสินมากจนต้องขายปราสาทให้กับทอมัส โบเยร์ (Thomas Bohier) ผู้เป็นราชมนตรีของพระเจ้าชาร์ลที่ 7 แห่งฝรั่งเศสเมื่อปีค.ศ. 1513 โบเยร์รื้อปราสาทเดิมทิ้งแล้วสร้างวังใหม่ระหว่างปี ค.ศ. 1515 ถึงปี ค.ศ. 1521 โดยให้แคทเธอริน บริโชเนท์ (Catherine Briçonnet) ผู้เป็นภรรยาเป็นผู้ดูแลการก่อสร้าง แคทเธอรินชอบจัดงานเลี้ยงสำหรับข้าราชสำนักรวมทั้งพระเจ้าฟรองซัวส์ที่1 ถึงสองครั้ง

ต่อมาพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 ก็ยึดวังจากลูกของโบเยร์ ผู้เป็นหนี้หลวงเป็นจำนวนมากมาย หลังจากพระเจ้าฟรองซัวส์สิ้นพระชนม์เมื่อปีค.ศ. 1547 พระเจ้าอองรีที่ 2 ก็ ยกเชอนงโซให้กับไดแอนน์ เดอ ปอยเตียร์ (Diane de Poitiers) ผู้เป็นพระสนมคนโปรด ไดแอนน์ติดใจเชอนงโซและชอบทิวทัศน์ริมฝั่งแม่น้ำแชร์มาก จนสั่งให้สร้างสะพานเชื่อมตัววังกับฝั่งตรงข้าม และสร้างสวนดอกไม้ สวนครัว และสวนผลไม้ขนาดใหญ่ สวนที่อยู่ริมแม่น้ำได้รับการป้องกันจากน้ำท่วมด้วยกำแพงหิน ตัวสวนเป็นรูปสามเหลี่ยมสี่อัน

ตามกฎหมายแล้วเชอนงโซเป็นของหลวง แต่ไดแอนน์ เดอ ปอยเตียร์ก็อยู่อย่างเป็นเจ้าของเต็มตัวมาจนถึงปี ค.ศ. 1555 เมื่อมีปัญหาว่าใครควรจะเป็นเจ้าของที่ถูกต้อง แต่ในที่สุดไดแอนน์ก็ได้เป็นเจ้าของถูกต้องตามกฎหมาย แต่เพียงสี่ปีต่อมาเมื่อพระเจ้าอองรีที่ 2 สิ้นพระชนม์เมื่อปี ค.ศ. 1559 พระราชินีแคทเธอรีน เดอ เมดิชิ (Catherine de' Medici) พระชายาของพระเจ้าอองรีก็ขับไดแอนน์ออกจากเชอนงโซ แต่เพราะวังไม่ได้เป็นของหลวงแคทเธอรินจึงไม่ทรงสามารถยึดได้โดยไม่มีข้อแลก เปลี่ยน จึงทรงบังคับให้ไดแอนน์แลกเชอนงโซกับวังชอมองท์ (Château Chaumont) หลังจากนั้นก็ทรงปรับปรุงเชอนงโซและสร้างสวนเพิ่มอีกหลายสวนจนกลายเป็นวัง ที่ทรงโปรดปรานมาก

ในฐานะที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแคทเธอริน เด เมดิชิสามารถใช้เงินจำนวนมากในการปรับปรุงและจัดงานหรูหราที่เชอนงโซได้ เมื่อปี ค.ศ. 1560 ก็ทรงจัดให้มีการแสดงดอกไม้ไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในฝรั่งเศสที่เชอนงโซ เพื่อเป็นการฉลองการขึ้นครองราชสมบัติของพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 2 ผู้เป็นพระโอรสของพระองค์

หลังจากพระราชินีนาถแคทเธอรินสิ้นพระชนม์เมื่อปี ค.ศ. 1589 วังก็ตกไปเป็นของลุยส เดอ ลอเรน-โวเดมองท์ (Louise de Lorraine-Vaudémont) พระชายาของพระเจ้าอองรีที่ 3 ผู้เป็นพระโอรสอีกองค์หนึ่งของพระราชินีนาถแคทเธอริน เมื่อพระราชินีลุยสได้รับข่าวการปลงพระชนม์ของพระสวามีก็ทรงโศกเศร้ามากจน ไม่ทรงมีสติสัมปชัญญะและทรงใช้เวลาบั้นปลายของชีวิตอย่างเป็นแม่ม่ายเต็มตัว เที่ยวเดินเทียวไปเทียวมาในชุดแม่ม่ายภายในวังที่ตกแต่งด้วยพรมแขวนผนังดำที่ปักเป็นหัวกระโหล กไขว้

พระสนมอีกคนหนึ่งที่ได้อยู่ที่วังนี้เมื่อปี ค.ศ. 1624 คือกาเบรียล เดสเตรส์ (Gabrielle d'Estrées) ในพระเจ้าอองรีที่ 4 หลังจากนั้นเชอนงโซก็ตกไปเป็นของผู้สืบสายมาจากพระราชินีลุยส--ดยุคเซซาร์ เดอ บูร์บง, ดยุคแห่งวองโดม (César de Bourbon, duc de Vendôme) และภรรยาดัชเชสฟรองซัวส เดอ ลอเรน (Françoise de Lorraine) และผ่านต่อมาทางสายวาลัวส์ (Valois) หลังจากนั้นวังก็มีผู้พำนักไม่พำนักบ้างมากว่าร้อยปี

เมื่อปี ค.ศ. 1720 ดยุคแห่งบูร์บงก็ซื้อวังเชอนงโซ แล้วค่อยๆ ขายสมบัติภายในวังไปทีละน้อย รูปปั้นหลายรูปก็ตกไปเป็นของพระเจ้าวังแวร์ซาย ในที่สุดวังเชอนงโซก็ถูกขายให้กับโคลด ดูแปง (Claude Dupin)

มาดามลุยส ดูแปง ภรรยาของโคลด ดูแปงเป็นลูกสาวของซามูเอล แบนาร์ด (Samuel Bernard) นักลงทุน และเป็นย่าของนักประพันธ์จอร์จ ซองด์ (George Sand) เป็นผู้ทำให้เชอนงโซกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งหนี่งโดยการจัดงานเลี้ยง สำหรับผู้นำในยุคภูมิปัญญา เช่น วอลแตร์ มองเตสกิเออ (Montesquieu) จอร์จ หลุยส์ เลอแคล (Georges-Louis Leclerc) เบอร์นาร์ด เลอ โบวิเย เดอ ฟองทเนล (Bernard le Bovier de Fontenelle) ปิแอร์ เดอ มาริโว (Pierre de Marivaux) และ ชอง-ชาก รุสโซ มาดามลุยส์ปกป้องเชอนงโซจากการถูกทำลายระหว่างการปฏิวัติฝรั่วเศส เพราะเชอนงโซเป็นจุดเดียวสำหรับข้ามแม่น้ำแชร์ในบริเวณนั้นจึงมีประโยชน์ต่อ การเดินทางและการค้าขาย

นอกจากนั้นก็ยังกล่าวกันว่ามาดามลุยสเป็นผู้เปลี่ยนการสะกดคำว่า “Chenonceaux” เป็น “Chenonceau” เพื่อเอาใจชาวบ้านระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส เพราะ “x” เป็นสัญลักษณ์ของฐานันดร เมื่อเอาอักษร “x” ออกก็เป็นการแสดงความจงรักต่อระบบการปกครองใหม่ แต่เรื่องนี้ก็ไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่การสะกด “Chenonceau” โดยไม่มี “x” ก็ยังใช้กันอยู่จนทุกวันนี้

เมื่อปี ค.ศ. 1864 แดเนียล วิลสัน (Daniel Wilson) ชาวสกอตแลนด์ผู้ร่ำรวยจากการติดตั้งตะเกียงแก๊สทั่วปารีสซื้อวังนี้ให้ลูกสาว ผู้ใช้เงินจำนวนมากจัดงานเลี้ยงจนกระทั่งหมดตัว ในที่สุดวังถูกยึดและขายให้โฮเซ อิมิลิโอ เทอรี (José-Emilio Terry) มหาเศรษฐีชาวคิวบา เมื่อปีค.ศ. 1891 เทอรีขายเชอนงโซต่อให้กับฟรานซิสโก เทอรีผู้เป็นญาติ และเมื่อปีค.ศ. 1896 ในที่สุดตระกูลเมเนียร์ (Menier) ที่มีชื่อเสียงจากการทำช็อกโกแลตก็ซื้อเชอนงโซเมื่อปีค.ศ. 1913 และเป็นเจ้าของมาจนถึงปัจจุบันนี้

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1ตัววังก็ใช้ เป็นโรงพยาบาล และระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เชอนงโซใช้เป็นที่ หนีจากบริเวณที่ยึดครองโดยนาซี ไปอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำแชร์ที่เป็นวิชีฝรั่งเศสที่เป็นอิสระจากส่วนที่ยึดครองโดย เยอรมนี

เมื่อปี ค.ศ. 1951ตระกูลเมเนียร์มอบให้เบอร์นาร์ด โวแซง (Bernard Voisin) เป็นผู้บูรณะเชอนงโซซึ่งอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมมากและสวนที่ได้รับความเสีย หายอย่างหนักจากน้ำท่วมเมื่อปี ค.ศ. 1940 ให้คืนสู่สภาพที่สวยงามตามที่เคยเป็นมา

ลักษณะของสถาปัตยกรรมของเชอนงโซ เป็นแบบผสมระหว่างสถาปัตยกรรมกอธิคและสถาปัตยกรรมเรอเนซองส์ตอนต้น ในปัจจุบันวังเปิดให้คนเข้าชมและเป็นวังที่มีผู้เข้าชมเป็นอันดับสองรองจากพระราชวังแวร์ซาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น