วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เอเชียนเกมส์ 2010


เอเชียนเกมส์ 2010 เป็นการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 16 จัดขึ้นที่นครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 12 ถึง 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 นับเป็นนครแห่งที่สองของจีน ที่เป็นเจ้าภาพการแข่งขันรายการนี้ หลังจากเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 11 ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยในการแข่งขันครั้งนี้มี 45 ประเทศเข้าร่วม กีฬาที่จัดแข่งขัน 42 ชนิด รวมจำนวนเหรียญทอง 476 เหรียญ ทั้งนี้ ยังมีเมืองใกล้เคียงอีกสามแห่ง ร่วมเป็นเจ้าภาพกับกว่างโจวด้วยคือ เมืองตงก่วน โฝซาน และซั่นเหว่ย นอกจากนั้น ในเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ ยังมีการเริ่มทดลองบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ๆ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 17 ในปี พ.ศ. 2557 ที่เมืองอินชอน ของสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) อีกด้วย
การเสนอชื่อเป็นเมืองเจ้าภาพเมื่อวันที่
1 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 มีพิธีประกาศผลการเสนอชื่อ เป็นเมืองเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 16 ที่กรุงโดฮา ของรัฐกาตาร์ โดยสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย มีมติมอบสิทธิการเป็นเจ้าภาพดังกล่าวแก่นครกว่างโจวด้วยเหตุที่ก่อนหน้านั้น เมืองที่เคยเสนอชื่อเป็นเจ้าภาพ ต่างก็ขอถอนตัวไปด้วยสาเหตุที่แตกต่างกัน โดยกรุงโซลของเกาหลีใต้ขอถอนตัว เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า เมืองของเกาหลีใต้ เพิ่งเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ครั้งหลังสุด ก่อนหน้า พ.ศ. 2553 เพียงแปดปีหรือสองครั้งเท่านั้น กล่าวคือ เมืองปูซานเคยเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ เมื่อปี พ.ศ. 2545 มาแล้วส่วนกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย ถอนตัวเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติบังคับ เนื่องจากเห็นว่าค่าใช้จ่ายสำหรับจัดการแข่งขันสูงเกินไป เป็นผลให้มีเพียงนครกว่างโจวเท่านั้น ซึ่งยังคงการเสนอชื่อครั้งนี้
สัญลักษณ์ประจำการแข่งขันสัญลักษณ์ประจำการแข่งขัน เป็นภาพลายเส้นของ
อนุสาวรีย์แพะห้าตัว ซึ่งเป็นตำนานของการสร้างนครกว่างโจว ส่วนตุ๊กตาสัญลักษณ์ เป็นแพะห้าตัว มีชื่อว่า อาเซียง อาเหอ อาลู่ อาอี้ และ เล่อหยางหยาง โดยเมื่อนำชื่อทั้งห้ามารวมกัน จะได้คำว่า (เซียงเหอลู่อี้เล่อหยางหยาง) ซึ่งแปลว่า ประสานใจให้พรสำเร็จสุขศานต์
พิธีเปิดการแข่งขัน
พิธีเปิดการแข่งขันกีฬ่าเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 16 จัดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 บนเกาะจำลองไห่ซินซา ที่สร้างขึ้นกลางแม่น้ำจูเจียง ซึ่งแปลว่าไข่มุก ในเขตเทียนเหอของนครกว่างโจว ภายใต้แนวความคิดหลักคือ "แผ่นดินและทะเล" นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเอเชียนเกมส์ ที่การจัดพิธีเปิดการแข่งขันมิได้เกิดขึ้นในสนามกีฬา การแสดงทั้งหมดในพิธีเปิดกำกับโดย เฉิน เว่ยหยา ผู้ช่วยผู้กำกับการแสดงในพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อน 2008[ต้องการอ้างอิง] ในพิธีเปิดเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ นายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ฌักส์ ร็อกก์ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล, ชีค อะห์เหม็ด อัล-ฟะฮัด อัล-ซะบะฮ์ ประธานสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย เป็นต้นพิธีเปิดเริ่มจากกระบวนเรือจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมแข่งขัน นำนักกีฬาเข้าสู่บริเวณสถานที่จัดแสดง สำหรับเรือของประเทศไทย มีโขนเรือเป็นรูปครุฑ และมีพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามอยู่กลางลำเรือ ส่วนในพื้นที่แสดง มีการติดตั้งจอภาพผลึกเหลว (แอลซีดี) ลักษณะคล้ายใบเรือสำเภาจีน จำนวน 8 จอ โดยพิธีอย่างเป้นทางการเริ่มในเวลา 20.00 น. (8 นาฬิกากลางคืน) ตามเวลาท้องถิ่น โดยการจุดพลุที่หอคอยกวางตุ้ง (หอส่งสัญญาณโทรทัศน์และทัศนียแห่งกว่างโจว) ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงอันดับเจ็ดของโลก จากนั้นจึงเป็นการเชิญธงชาติจีนขึ้นสู่ยอดเสา ต่อมาจึงเป็นการแสดงในพิธีเปิด 4 ชุด ซึ่งสื่อให้เห็นว่านครกว่างโจวเป็นเมืองท่าที่สำคัญของจีน การแสดงที่สำคัญคือ การขับร้องเพลงโดย จาง จื่ออี๋ นักร้องและนักแสดงชาวจีน, หลาง หลาง นักเปียโนชาวจีน, คิม ฮยอนจุง นักร้องชาวเกาหลี เป็นต้น และการแสดงกายกรรม 4 มิติ ร่วมกับภาพบนจอแอลซีดีทั้งแปด โดยมีนักแสดงกายกรรมจำนวน 180 คนโยงกับลวดสลิง และดึงขึ้นไปสูงจากพื้น 80 เมตร ซึ่งใช้ผู้เชิดจำนวนกว่า 1,000 คนต่อมาเป็นช่วงประกอบกระถางคบเพลิง โดยนำน้ำจากแหล่งธรรมชาติของทั้ง 45 ประเทศ มาเทลงในกระถางคบเพลิง พร้อมการแสดงที่ผสมผสานเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศในเอเชีย โดยแบ่งตามภูมิภาค ได้แก่ เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียกลางตามลำดับ ในช่วงสุดท้ายของการแสดงในพิธีเปิด มีการขับร้องเพลงโดยนักร้องจากจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้ นักแสดงจากทุกชุดได้ออกมาอีกครั้ง พร้อมกันนั้นเสาทั้งสี่ได้ยกกระถางคบเพลิงสูงจากพื้น เมื่อการแสดงจบลงได้มีการแสดงสกีผาดโผนเป็นการคั่นเวลาในการปรับพื้นที่แสดงต่อไปจากนั้นเป็นการเดินขบวนของคณะนักกีฬา และเจ้าหน้าที่ของประเทศต่างๆ ตามลำดับอักษรภาษาอังกฤษ โดยนักกีฬาจะเดินออกมาจากส่วนกลางด้านหลังของพื้นที่จัดแสดง เช่นเดียวกับพิธีเปิดเอเชียนเกมส์ที่กรุงโดฮา นำโดยหญิงสาวถือป้ายชื่อประเทศที่มีส่วนบนโปร่งใส แสดงชื่อประเทศเป็นอักษรจีนและอังกฤษตามลำดับ ส่วนล่างเป็นภาพสถานที่สำคัญของประเทศนั้นๆ พร้อมทั้งมีการบรรเลงเพลงที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติเมื่อนักกีฬาเดินถึงจุดเลี้ยวด้านหน้าประธาน และจอแอลอีดีจะฉายภาพธงชาติพร้อมสถานที่สำคัญของประเทศนั้นๆ ด้วย ทั้งนี้ ขบวนของประเทศไทย เข้าสู่สถานที่จัดแสดงเป็นลำดับที่ 39 โดยป้ายส่วนล่างเป็นรูปพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม และพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเจ้าภาพต้อนรับด้วยการบรรเลงเพลง รำวงลอยกระทง และมี ดนัย อุดมโชค นักเทนนิสมือวางอันดับหนึ่งของทีมชาติไทย เป็นผู้เชิญธงชาติไทยนำขบวน ส่วนประเทศจีนเจ้าภาพนั้น ป้ายส่วนล่างเป็นรูปอนุสาวรีย์แพะ หอฟ้าเทียนถาน และศาลาประเทศจีนในงานเอกซ์โป 2010 ที่นครเซี่ยงไฮ้สำหรับพิธีจุดไฟในกระถางคบเพลิง โดยนักกีฬาทีมชาติจีนทั้งอดีตและปัจจุบันเป็นผู้เชิญไฟ เริ่มจาก วู ซูจง นักพายเรือมังกร ซึ่งวิ่งขึ้นมาจากกลางลำน้ำจูเจียง, เฉิน ยี่ปิง นักยิมนาสติก, หง จื้อหัง อดีตนักฟุตบอล, เติ้ง หย่าผิง อดีตนักเทเบิลเทนนิสเหรียญทองโอลิมปิก 1992 และ 1996 ส่วนผู้จุดคบเพลิงคือ เหอ ซง นักกระโดดน้ำ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 โดยจุดประทัดยักษ์ที่เด็กชายหญิงชาวจีน นำมาวางใต้กระถางคบเพลิง ซึ่งยกสูงขึ้นกลางสถานที่จัดแสดง ให้ลูกไฟพุ่งขึ้นไปจุดคบเพลิง เป็นสัญญาณว่าการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 16 เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ
พิธีปิดการแข่งขัน
พิธีปิดการแข่งขัน กำหนดจัดในคืนวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ณ สถานที่เดียวกับพิธีเปิด โดยจะมีการส่งมอบธงการแข่งขันให้กับนายกเทศมนตรีนครอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ เจ้าภาพครั้งต่อไป การแสดงทางวัฒนธรรมจากเกาหลีใต้ ซึ่งเรนนักร้องชื่อดังจะร่วมแสดงด้วย นอกจากนี้ในช่วงพิธีการ สืบศักดิ์ ผันสืบ นักเซปักตะกร้อทีมชาติไทยจะเป็นผู้เชิญธงชาติไทยเข้าสุ่สนามด้วย สืบศักดิ์จะเข้าร่วมเอเชี่ยนครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะอำลาทีมชาติอย่างเป็นทางการในการแข่งขันซีเกมส์ในปี พ.ศ. 2555
ประเทศที่เข้าร่วม
กัมพูชา กาตาร์ เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน คูเวต จอร์แดน จีน ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย ติมอร์ตะวันออก เติร์กเมนิสถาน จีนไทเป ทาจิกิสถาน ไทย เนปาล บรูไน บังกลาเทศ บาห์เรน ปากีสถาน ปาเลสไตน์ พม่า ฟิลิปปินส์ ภูฏาน มองโกเลีย มัลดีฟส์ มาเก๊า มาเลเซีย เยเมน ลาว เลบานอน เวียดนาม ศรีลังกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ อัฟกานิสถาน อินเดีย อินโดนีเซีย อิรัก อิหร่าน อุซเบกิสถาน โอมาน ฮ่องกง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น