วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

ให้รู้จักพอ ให้รู้จักประมาณตน (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

ให้รู้จักพอ ให้รู้จักประมาณตน


สันโดษ มาจากภาษาบาลีว่า สันโตสะ
สัน แปลว่า ตน
โตสะ แปลว่า ยินดี

สันโดษ จึงแปลว่า ยินดี พอใจ อิ่มใจ สุขใจ กับของของตน
กล่าวโดยย่อคือ ให้รู้จักพอ ให้รู้จักประมาณตน



ลักษณะของสันโดษมี 3 ประการคือ

ยินดีตามมี
ยินดีตามได้
ยินดีตามควร


เมื่อเราเข้าใจกฎแห่งกรรม
ยอมรับกฎแห่งกรรมด้วยปัญญาชอบ แล้วก็จะพอใจ
ในสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ ตามฐานะของตนในปัจจุบัน
ยอมรับว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน สมบูรณ์แล้วด้วยเหตุผล

อดีต........เป็น........เหตุ
ปัจจุบัน....เป็น........ผล
.....มันเป็นกรรมเก่า


พระพุทธเจ้าตรัสว่า
กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ร่างกายจิตใจของเรา
รวมทั้งสิ่งที่เป็นที่พึ่งอาศัยของกาย
เช่น พ่อแม่ พี่น้อง สามีภรรยา ลูกๆ บุคคลต่างๆ
ตลอดจนทรัพย์สมบัติ สถานที่ บ้าน สังคม ประเทศชาติ
ที่เราต้องไปเกี่ยวข้องล้วนเป็นกรรมเก่า



ยินดีตามมี


โลกธรรม 8 ที่เราประสบอยู่ในปัจจุบัน
โลกธรรมฝ่ายน่าปรารถนา ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ สุข
โลกธรรมฝ่ายไม่น่าปรารถนา เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์
ล้วนเป็นผลจากการกระทำของเราทั้งสิ้น
ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏมีอยู่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
จึงสมบูรณ์ด้วยเหตุและผล เราจึงต้องยินดีพอใจ

แม้มีบางสิ่งบางอย่าง “ไม่ถูกใจ”
ก็ต้องอาศัยปัญญาชอบที่จะยอมรับความจริง
จนทำใจให้สงบ สบายได้





ยินดีตามได้


ยินดีกับของส่วนที่ได้มา
คือ เมื่อแสวงหาประโยชน์อันใดแล้ว
ได้เท่าไรก็พอใจเท่านั้นยินดีพอใจในสิ่งที่ได้
เมื่อเราใช้ชีวิตอยู่ในสังคม เราย่อมมีความปรารถนา
อยากได้ อยากมี อยากเป็น
และเมื่อเราแสวงหาสิ่งที่ต้องการด้วยความตั้งใจ
ความพยายามอย่างดีที่สุดตามกำลังตนแล้ว
เราต้องยอมรับผลที่ได้ เพราะเราก็ได้อาศัยบุญเก่า
ได้ใช้ความขยันหมั่นเพียร ความมานะอดทน ความสามารถ
กำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญาเต็มที่แล้ว
มันเป็นเพราะการกระทำทั้งในอดีตและปัจจุบันร่วมกันออกผล
เรียกว่าสิ่งที่ได้มันก็พอดีๆ กับการกระทำของตนเองทั้งนั้น
เมื่อเข้าใจจุดนี้ก็จะสบายใจ มีความยินดีพอใจในสิ่งที่ได้





ยินดีตามควร


ยินดีกับของที่สมควรแก่ตนเท่านั้น
สิ่งใดที่มีอยู่หรือจะได้มา หากเห็นว่าไม่สมควรกับเรา
ก็ไม่ยินดี ไม่ยอมรับไว้

การจะตัดสินว่า ควรหรือไม่ควรนั้น
ให้พิจารณาโดยใช้หลัก 3 ประการ คือ

ควรแก่ฐานะ
ควรแก่ความสามารถ
ควรแก่ศีลธรรม



ควรแก่ฐานะ

ให้พิจารณาว่าปัจจุบัน เราอยู่ในฐานะอะไร
เช่น เป็นฆราวาส หรือ เป็นนักบวช
เป็นผู้ใหญ่ หรือผู้น้อย
เช่น เมื่อเราเป็นฆราวาส มีใครเอาบาตร
เอาจีวรมาให้ เราก็ไม่ควรใช้
หรือเมื่อเราเป็นพระ
ก็ไม่ควรรับของที่ไม่เหมาะสมแก่ฐานะตน
เช่น อาวุธ บุหรี่ เหล้า หนังสือโป๊
วิดีโอเกมส์ เป็นต้น


ควรแก่ความสามารถ

คนเราเกิดมามีกำลังความสามารถไม่เท่ากัน
ทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา
ดังนั้น เราควรรู้กำลังความสามารถของตนเอง
และแสวงหา หรือยอมรับเฉพาะของที่ควรแก่กำลัง
ความสามารถของตนเองเท่านั้น เช่น
ถึงแม้ว่าครอบครัวเราจะมีอำนาจบารมี
สามารถฝากงานในตำแหน่งสูงๆ ให้กับเราได้
แต่ถ้าเราพิจารณาถึงกำลังสติปัญญาและประสบการณ์
ของเราแล้วว่า ยังไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบงานได้
ก็ไม่ควรยินดีรับตำแหน่ง เป็นต้น


ควรแก่ศีลธรรม

ของใดก็ตามแม้ควรแก่ฐานะของเรา
ควรแก่ความสามารถของเรา
แต่ถ้าไปยินดีกับของนั้นแล้ว ทำให้เราผิดศีลธรรม
เสียชื่อเสียงเกียรติยศ ศักดิ์ศรี
ก็ไม่ควรยินดีกับสิ่งของนั้น
เช่นของที่ลักขโมย ฉ้อโกงเขามา
ของผิดกฎหมาย เช่น อาวุธเถื่อน ยาเสพติด
ของที่เขาให้เพื่อเป็นสินจ้างรางวัลในทางที่ผิด
หรือในกรณีที่เราแต่งงานมีครอบครัวแล้ว
เมื่อมีใครมารักมาชอบเราแบบชู้สาว
แม้เราพอใจในตัวเขามากแค่ไหนก็ตาม
ก็ไม่ควรรับ ไม่ควรตอบสนอง เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น