ไบโอดีเซล (อังกฤษ: Biodiesel) เป็นเชื้อเพลิงดีเซลที่ผลิตจากแหล่งทรัพยากรหมุนเวียน เช่น น้ำมันพืช ไขมันสัตว์ หรือสาหร่าย ไบโอดีเซลเป็นเชื้อเพลิงดีเซลทางเลือก นอกเหนือจากดีเซลที่ผลิตจากปิโตรเลียม โดยมีคุณสมบัติการเผาไหม้ เหมือนกับดีเซลจากปิโตรเลียมมาก และสามารถใช้ทดแทนกันได้
คุณสมบัติสำคัญของไบโอดีเซลคือ สามารถย่อยสลายได้เอง ตามกระบวนการชีวภาพในธรรมชาติ และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ไบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงดีเซลจากน้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการทางเคมีที่เรียกว่ากระบวนการทรานเอสส์เทอริฟิเคชัน (Transesterification Process) โดยให้น้ำมันพืชทำปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์ เช่น เมทานอล หรือเอทานอล และมีด่างเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา มีลักษณะเป็นเอสเทอร์ของกรดไขมัน เรียกว่า Fatty Acid Methyl Ester
การเรียกชื่อประเภทของไบโอดีเซลขึ้นกับชนิดของแอลกอฮอล์ที่ใช้ในการทำปฏิกิริยา เช่น เมทิลเอสเทอร์ เป็นเอสเทอร์ที่ได้จากการใช้เมทานอลเป็นสารในการทำปฏิกิริยา หรือเอทิลเอสเทอร์ เป็นเอสเทอร์ที่ได้จากการใช้เอทานอล เป็นสารในการทำปฏิกิริยา เป็นต้น
น้ำมันดีเซลถือเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อต้นทุนของภาคขนส่ง ภาคเกษตรกรรม ภาคการผลิตอุตสาหกรรม และอื่นๆ ที่มีการใช้เครื่องยนต์ดีเซล การที่น้ำมันดีเซลมีราคาสูงขึ้นในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ย่อมส่งผลต่อราคาสินค้าโดยตรง ดังจะเห็นจากราคาสินค้าขายปลีกที่สูงขึ้นในทุกวันนี้ผลกระทบนี้มีผลต่อประชาชนผู้บริโภคทุกคน
ไบโอดีเซล นับเป็นพลังงานทดแทนที่กำลังมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงแค่บทบาทของการทดแทนน้ำมันดีเซล แต่การที่ไบโอดีเซลสามารถผลิตได้จากพืชน้ำมันที่ปลูกมากในประเทศอย่าง ปาล์มน้ำมัน สบู่ดำ รวมทั้งได้จากน้ำมันพืช ไขมันสัตว์ ที่ผ่านการประกอบอาหารแล้ว ซึ่งนับเป็นวัตถุดิบที่มีจำนวนมากและหาได้ในประเทศ การผลิตไบโอดีเซลจากไขมันสัตว์/น้ำมันพืชที่ใช้แล้วมีต้นทุนการผลิตถูกกว่าน้ำมันดีเซล ซึ่งจะช่วยให้ประเทศประหยัดงบประมาณจากการนำเข้าน้ำมันที่ต้องสูญเสียปีละหลายแสนล้านบาท ช่วยสร้างงาน อาชีพ รายได้เพิ่มขึ้นให้แก่เกษตร และยังป้องกันการนำน้ำมันพืช กลับมาใช้ซ้ำ ที่มีสารก่อมะเร็งอีกด้วย
ด้านคุณภาพของไบโอดีเซล ในการเดินเครื่องยนต์นั้น ก็มีคุณภาพไม่ต่างจากน้ำมันดีเซล แถมไม่ก่อให้เกิดปัญหาแก่เครื่องยนต์ และมลภาวะในไอเสียมีค่าน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันดีเซล รวมทั้งการใช้ไบโอดีเซล ก็ไม่จำเป็นต้องดัดแปลงเครื่องยนต์แต่อย่างไร
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ได้จับมือกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเร่งส่งเสริมเกษตรเพาะปลูกปาล์มน้ำมัน การคัดเลือกกล้าพันธ์ที่ให้ผลผลิตดี สนับสนุนให้ภาคเอกชนจัดตั้งโรงงานผลิต ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น รวมทั้งการได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดสินเชื่อที่เหมาะสมสำหรับ ผู้ประกอบการไบโอดีเซลอย่างครบวงจร และที่สำคัญการกำหนดให้ราคาไบโอดีเซลที่จำหน่ายในเชิงพาณิชย์ถูกกว่าน้ำมันดีเซล 50 สตางค์ต่อลิตร เพื่อจูงใจให้เกิดการใช้อย่างแพร่หลาย
การใช้ไบโอดีเซล อาจจะเป็นเพียงแนวทางหนึ่ง เพื่อบรรเทาสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง แต่หากใช้ร่วมกับมาตรการอื่น เช่น การประหยัดพลังงาน ลดการใช้พลังงานที่ฟุ่มเฟือย การใช้พลังงานหมุนเวียนอื่นๆ รวมทั้งพลังงานชีวมวล ก็จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเรา สามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้อย่างยั่งยืนต่อไป
วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น