จุดแดงที่แต้มกลางหน้าผากเรียกว่า "ติกะ" (Tika) แต่ในบางครั้งอาจเรียกว่า "บินดิ" (Bindi) ซึ่งหมายถึงจุดที่เจิมบริเวณแสกผม โดยใช้นิ้วป้ายขึ้นไปตามรอยแสกผมปัจจุบันจุดบนหน้าผากสตรีอินเดีย อาจเรียกปนกันทั้ง ติกะ และ บินดี สตรีในศาสนาพราหมณ์ฮินดูแต่โบราณนานมา เมื่อแต่งงานแล้วจะแต้มจุดแดงที่กลางหน้าผาก เป็นสัญลักษณ์ของการมีพันธะด้านการครองเรือน ในฐานะผู้เป็นภรรยา ผู้เป็นแม่ สตรีอินเดียถือสามีเสมือนเทพ จะให้ความรักความเคารพอย่างสูงการเจิมหน้าผากจะทำในวันแต่งงาน เมื่อคู่บ่าวสาวเดินรอบกองไฟแล้วพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีวิวาห์ หรือผู้เป็นเจ้าบ่าวจะเจิมหน้าผากให้เจ้าสาวเป็นการประกาศว่าหญิงผู้นั้นเป็นภรรยาอย่างถูกต้องตามประเพณีสตรีชาวอินเดียจะต้องมีจุดนี้อยู่ตราบที่สามียังมีชีวิตอยู่ และจะต้องลบออกเมื่อสามีเสียชีวิต ในกรณีที่เลิกร้างกัน สตรีผู้นั้นจะลบจุดออกได้ต่อเมื่อเป็นการเลิกร้างโดยคำสั่งของศาล หากสตรีผู้นั้นลบจุดติกะออกโดยที่สามียังมีชีวิตอยู่ หรือไม่ได้เลิกกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จะถือว่าเป็นการกระทำสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ โดยทั่วไปจุดสีแดงนี้จะทำจากมูลวัวที่นำมาเผาและบดจนละเอียดแล้วผสมกับสีแดงชาดที่ได้จากรากไม้ มูลวัวไม่ถือว่าเป็นของสกปรกเพราะวัวเป็นพาหนะของพระเจ้า และกินพืชเป็นอาหารผงสีนี้เรียกว่า "ผงวิภูติ" มีจำหน่ายตามร้านค้า ผงนี้อาจมีการนำไปทำพิธีก่อนนำมาใช้ก็ได้ ลักษณะของจุดติกะมีหลายแบบ เดิมนิยมจุดกลม คนที่ยังสาวจะนิยมจุดเล็กเพราะสวยงามกว่าแต่พออายุมากขึ้นอาจแต้มจุดให้ใหญ่ขึ้น ปัจจุบันมีรูปแบบจุดอื่น ๆ เช่น รูปคล้ายหยดน้ำ หรือเป็นวงกลมและมีรัศมีโดยรอบเหมือนดวงอาทิตย์ ปัจจุบันติกะพัฒนารูปแบบไปมากทั้งรูปทรงและสีสัน บางทีก็ทำเป็นสติกเกอร์เพื่อสะดวกใช้ มีข้อสังเกตว่า ในบางครั้งจุดติกะอาจไม่ใช่สัญลักษณ์ของสตรีที่แต่งงานเพียงอย่างเดียว ติกะถือว่าเป็นสิ่งมงคล ชาวอินเดียบางกลุ่มจะใช้ในโอกาสอื่น ๆ เช่นเวลาไหว้พระ พราหมณ์จะให้ผงวิภูติ ผู้รับจะนำมาเจิมเพื่อเป็นสิริมงคล แต่ก็เป็นการเจิมเพียงชั่วคราวเท่านั้น คนที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมอินเดียมักเข้าใจว่าจุดแดงเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นชาวอินเดีย จึงมักแต้มจุดแดงเวลาที่แต่งกายเป็นชาวอินเดีย เช่นนางเอกในละครแม้ยังเป็นสาวเป็นแส้ ก็แต้มจุดแดงกับเขาด้วยนี่เป็นเรื่องของการนำมาใช้โดยไม่ศึกษาให้ถ่องแท้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจุดแดงจะเป็นวัฒนธรรมของพวกพราหมณ์ฮินดูแต่สตรีชาวอินเดียที่แต่งงานแล้ว และไม่ใช่ชาวฮินดูแท้ ๆ อาจรับวัฒนธรรมนี้ไปใช้ ในชาวอินเดียบางกลุ่ม สัญลักษณ์ของสตรีที่แต่งงานแล้วอาจเป็นการห้อยสายสร้อยสังวาลมงคล ซึ่งสามีมอบให้
วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น